ประเด็นร้อน
6 ข้อที่วิจัยโกงควรทำ
โดย ACT โพสเมื่อ Jan 17,2018
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
คอลัมน์ ต่อต้านคอร์รัปชัน โดย : รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ต่อตระกูล: เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราได้มานำเสนอข้อแนะนำ 5 ข้อ ที่นักวิจัยหัวข้อเรื่องการคอร์รัปชันควรหลีกเลี่ยงจากศาสตราจารย์แมทธิว สตีเฟนสัน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ที่มาบรรยายพิเศษในงานเปิดตัว SIAM lab หรือ ศูนย์ทดลองการออกแบบสถาปัตยกรรมและกลไกสร้างสำนึกต่อสังคม ซึ่งเป็นความร่วมมือ กันระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อเราพอจะมีแนวทางแล้วว่า งานวิจัยแบบไหนไม่ควรทำ สัปดาห์นี้เราจึงขอนำเสนอส่วนที่สองจากการบรรยายดังกล่าวของศาสตราจารย์สตีเฟนสันว่า แล้วงานวิจัยแบบไหนควรได้รับการสนับสนุน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ต่อภัสสร์: ดังที่เราสองคนได้สรุปไปแล้วในบทความสัปดาห์ที่แล้ว ว่าประเภทงานวิจัยเรื่องคอร์รัปชันที่ควรหลีกเลี่ยง 5 ข้อนั้น ได้แก่ การศึกษาความหมายของการคอร์รัปชัน,การสร้างดัชนีชี้วัดอัตราการคอร์รัปชันใหม่ๆ,การใช้หลักสถิติหาความเชื่อมโยงระหว่างการอัตราการคอร์รัปชันกับผลทางสังคมและเศรษฐกิจ,การพิสูจน์ว่าคอร์รัปชันมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาการของประเทศ และการทำวิจัยในห้องทดลองโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง วันนี้ผมจึง ขอนำเสนอ 6 ข้อ ที่นักวิจัยเรื่องคอร์รัปชันควรทำ
ข้อแรกคือ งานวิจัยควรเริ่มจากฐานความเป็นจริงโดยใช้วิธีวิจัยแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomised Control Trial) ในพื้นที่จริง (Field Experiment) และตั้งคำถามวิจัยจากสภาพความเป็นจริง อธิบายวิธีการวิจัยนี้โดยย่อว่า การทดลองด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ร่วมการทดลองแบบสุ่มโดยที่จะต้องปฏิบัติกับผู้ร่วมการทดลองทุกกลุ่มเหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นปัจจัยเปรียบเทียบ เช่น ลักษณะข้อสอบทำให้พฤติกรรมการโกงแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร สภาพแวดล้อมบางประการส่งผลต่อการตัดสินใจ ให้โกงหรือไม่โกงหรือไม่ ทั้งนี้ศาสตราจารย์ สตีเฟนสันเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริงอย่างมาก ซึ่งการตั้งโจทย์วิจัยจากความเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่อย่างลึกซึ้ง จึงควรอาศัยกระบวนการวิจัยทางสังคมศาสตร์เข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นออกแบบการวิจัยด้วย
ข้อสอง สืบเนื่องจากข้อหนึ่ง ศาสตราจารย์ สตีเฟนสันได้แนะนำต่อว่า หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการวิจัยที่อธิบายมาข้างต้น คือผลกระทบของนโยบายและโครงการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีอยู่แล้ว ว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ อย่างไร และมีปัจจัยอะไรที่จะสามารถทำให้นโยบายและโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ในแต่ละพื้นที่ได้บ้าง ที่น่าสนใจเพราะผลของนโยบายและโครงการเหล่านี้จะต้องมีการจัดเก็บข้อมูลอยู่แล้วทำให้นักวิจัยไม่ต้องเสียเวลาเก็บข้อมูลมาก และนอกจากนี้นักวิจัยยังแทบจะไม่ต้องไปเร่ขายผลการศึกษาเลย เพราะมีกลุ่มผู้ออกนโยบายและผู้ปฏิบัติรอรับไปใช้จริงทันทีอยู่แล้วด้วย
ข้อสามการวิจัยว่าจะนำเครื่องมือ ต้านโกงต่างๆ ไปใช้จริงให้สำเร็จได้อย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันมีเครื่องมือ ต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสในสังคม เช่น เว็บไซต์ที่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต่อสาธารณะ หรือ กฎหมายเปิดเผยข้อมูลราชการ เครื่องมือเพื่อให้หน่วยงานราชการต้องปรับปรุงคุณภาพการให้บริการประชาชน อย่างสม่ำเสมอ เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เครื่องมือปลูกฝังจิตสำนึก เช่น หลักสูตรโตไปไม่โกง หลักสูตรการเรียนรู้ธรรมาภิบาลด้วยตนเอง และเครื่องมือเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในสังคม เช่น สำนักข่าวสืบสวนสอบสวนต่างๆ แต่ปัญหาคือ หลายๆ เครื่องมือ ที่กล่าวมานี้ เมื่อพิจารณาในเชิงทฤษฎี ก็ดูดีมาก และพอนำไปใช้จริง กลับไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ดังนั้นนอกจากการวิจัยจะต้องคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ยังจำเป็นจะต้องศึกษาด้วยว่า ต้องทำอย่างไรเพื่อให้เครื่องมือเหล่านี้ประสบความสำเร็จได้
กรอบทฤษฎีหนึ่งที่ช่วยทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เครื่องมือนั้นๆ สำเร็จหรือไม่สำเร็จ คือ กรอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือ การศึกษาการบริหารจัดการอำนาจและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อค้นหาปัจจัยที่ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐให้การสนับสนุนนโยบายนั้นๆ อย่างจริงใจและเต็มที่ โดยไม่ ลดทอนประสิทธิภาพของนโยบายลง
ข้อสี่การศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเองเท่านั้น แต่ประวัติการพัฒนาการของประเทศอื่นๆ ด้วย ที่ผ่านมางานวิจัยประเภทนี้มักเลือกกรณีศึกษาซ้ำๆ กัน เช่น การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในสิงคโปร์และฮ่องกง แต่สมัยนี้มีตัวอย่างใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากเช่น อินโดนีเซีย ที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติว่าประสบความสำเร็จในการรวมพลังประชาสังคมมาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างรวดเร็ว เกาหลีใต้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีประสานเข้ากับการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงกลุ่มประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไปและมีอัตราการคอร์รัปชันที่น้อยมากมานานแล้ว เช่น สวีเดน ฟินแลนด์และสหรัฐอเมริกา ว่ามีแง่มุมไหนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้บ้าง
ข้อห้า การศึกษาการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะต่อให้คิดเครื่องมือต้านโกงมามากและดีแค่ไหน สามารถหาวิธีนำนโยบายมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ถ้าคนในสังคมไม่ร่วมด้วย การศึกษาและความพยายามแก้ไขปัญหาก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เป็นที่น่าสนใจว่าที่ผ่านมาหลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม พยายามทำการสื่อสารออกไป หลายรูปแบบ ทั้งโฆษณาในโทรทัศน์ คลิปสั้นรณรงค์ในโซเชียลมีเดีย เพลงต้านโกง และกิจกรรมงานวันต้านโกงระดับชาติและสากล บ้างก็ประสบความสำเร็จ มีคนชื่นชม และส่งผลให้เกิดความตื่นรู้ในสังคม แต่หลายสื่อก็ไม่สำเร็จ เห็นแล้วรู้สึกเสียดายงบประมาณที่ใช้ไป ดังนั้นงานวิจัยจึงควรจะมาสนับสนุนความเข้าใจว่าสื่อประเภทไหน และสื่ออย่างไร สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทัศนคติของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ทำให้คนไทยเป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกงได้ เพื่อหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะได้ทุ่มทรัพยากรไปอย่างคุ้มค่าที่สุด
ข้อสุดท้าย สรุปและรวบรวมองค์ความรู้ด้านคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชัน ข้อนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยประสบอุปสรรคนี้มาด้วยตนเองแล้วตอนทำวิทยานิพนธ์ คือหา ข้อมูลเรื่องคอร์รัปชันยากมาก ทั้งข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ และองค์ความรู้จากการวิจัยที่เคยทำกันมาแล้ว เสียเวลามากกว่า จะค้นหาได้ครบว่ามีใครศึกษาเรื่องอะไร เกี่ยวกับคอร์รัปชันมาแล้วบ้าง แทนที่จะได้ใช้เวลาในการคิดอะไรใหม่ๆ บางงานวิจัยที่ศึกษาไม่ครอบคลุม พอทำเกือบเสร็จแล้ว เพิ่งมาพบว่ามีคนอื่นทำประเด็นนี้ แล้วต้องเริ่มคิดใหม่ก็มี ดังนั้น SIAM lab ในฐานะศูนย์วิจัยเรื่องคอร์รัปชันจึงรับโจทย์นี้ไปพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการต่อต้าน คอร์รัปชัน ซึ่งจะแล้วเสร็จระยะที่หนึ่งภายในกลางปีนี้
ต่อตระกูล : บทความเรื่องเกี่ยวกับ งานวิจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชันนี้ คงจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะกับนักวิชาการหรือนักวิจัยไทยเท่านั้น แต่ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่านักวิชาการทั่วโลกก็กำลังระดมสมองกันขนานใหญ่มาเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันกัน แปลว่าการต่อสู้กับคอร์รัปชันนั้นต้องมีความรู้เท่าทันคนโกง และต้องเป็นความรู้ที่ได้จากกระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งก็ขอฝาก ความหวังนี้ไว้กับศูนย์ SIAM Lab ของจุฬาฯ ด้วยนะครับ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน